วันเสาร์ที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔

สตรีกับพระพุทธศาสนา ธิดา, มารดาและภรรยา



บทนำ
           พระพุทธศาสนาเป็นศาสนา ที่ให้ความสำคัญสตรียกย่องความเสมอภาค ชี้ให้เห็นถึง ความสำคัญของสตรีต่อสังคมโลก ความเป็นอยู่ของสังคมจะเป็นสุขได้ต้องอาศัยสตรี
             เพื่อให้ชาวพุทธได้ประโยชน์ในส่วนนี้จึงขอนำเสนอเรื่องสตรีที่ปรากฏในคำสอนทางพระพุทธศาสนา
หนังสือนี้เชื่อว่าจะยังคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อ่าน ด้วยผลแห่งกุศลที่ประสงค์จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายได้เข้าใจธรรม และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็เพื่อดำรงพระสัทธรรมให้ดำรงคงมั่นในอยู่จิตใจชาวพุทธ สร้างเสริมปัญญาเป็นบารมี  บุญที่มีความปรารถนาในกุศลจิตเช่นนี้จงยังผลอันเกิดจากบุญญาบารนี้ มีผลต่อบิดามารดาครูอาจารย์ญาติพี่น้องตลอดจนสหายธรรมทุกท่านให้ถึงความสุข และเป็นผู้ดำรงคงมั่น ในสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และให้ศาสนาแห่งพระบรมศาสดาดำรงคงอยู่ตลอดกาลนาน เป็นแสงสว่างนำพาชีวิตของสรรพสัตว์ออกจากห้วงมหรรณพภพสงสารพ้นกองทุกข์กองโศกกองกิเลสเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ด้วยทั่วหน้ากันทุกท่านทุกคนเทอญ
ธีรเมธี
ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี
มหาบัณฑิตพุทธศาสนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

 บทที่ ๑
 การกำหนดสถานภาพของสตรี 
 การสถานภาพของสตรี  ๒ ส่วน คือ
๑. สถานภาพของสตรีในทางสังคม
ซึ่งเป็นการกล่าวถึงสตรีในฐานะที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับครอบครัว
คือกล่าวถึงสตรีในฐานะธิดา, มารดาและภรรยา
๒. สถานภาพของสตรีในทางธรรมหรือทางศาสนา
คือกล่าวถึงสตรีในฐานะอุบาสิกา,แม่ชีและภิกษุณีในที่นี้มุ่งกล่าวถึงสถานภาพของสตรีในทางสังคมเท่านั้น
๑. ผู้หญิงในฐานะธิดา
      พระพุทธศาสนาแบ่งบุตร ซึ่งครอบคลุมไปถึงธิดาด้วยไว้ ๓ ประเภท[๒] คือ ๑. อันเตวาสิกบุตร(ธิดา) หมายถึงศิษย์ที่ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการต่าง ๆพำนักอยู่ในสำนักอาจารย์  คอยปรนนิบัติพัดวีรับใช้อาจารย์มุ่งศึกษาหาความรู้อันเป็นมรดกตกทอดมาจากอาจารย์อย่างเดียวมิได้มุ่งที่จะรับทรัพย์มรดกอันใดจากอาจารย์
๒. ทินนกบุตร(ธิดา) หมายถึง ทารกที่เขาขอมาเลี้ยงต่างลูกมักจะเรียกว่า บุตรบุญธรรมบุตร(ธิดา)ประเภทนี้มีฐานะหน้าที่และสิทธิเหมือนลูกตัว
๓. อัตรชบุตร (ธิดา) หมายถึงทารกที่ถือกำเนิดเกิดมาจากสายเลือดของตนในอรรถกถาชาดก  กล่าวบุตร (ธิดา) ไว้ ๔ ประเภท คือ  อัตรชบุตร (ธิดา) เขตรชบุตร (ธิดา) อันเตวาสิกบุตร (ธิดา)และทินนกบุตร (ธิดา) เฉพาะเขตรชบุตร (ธิดา)ได้ให้ความหมายว่าบุตร (ธิดา)ที่เกิดในสถานที่เหล่านี้คือ ในที่นอน ในที่นั่ง ในอก อาจจะหมายถึงประชาราษฎร์ที่เกิดในขอบขัณฑสีมาของพระราชาเป็นเสมือนพระโอรส (พระธิดา)ของพระองค์ ดังนั้น พระองค์จึงทรงอภิบาลรักษาคนเหล่านั้นบุตรธิดาจำแนกตามระดับความประพฤติ  จัดเป็น ๓ ประเภท คือ
๑.  อติชาตบุตร(ธิดา) หรือ อภิชาตบุตร(ธิดา)  หมายถึงบุตร(ธิดา)มีคุณธรรมยิ่งกว่ามารดาบิดา  อธิบายได้ว่ามารดาบิดาไม่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ  ไม่รักษาศีล ๕ แต่บุตรถึงพระรัตนตรัย และรักษาศีล ๕
๒. อนุชาตบุตร(ธิดา) หมายถึง บุตร(ธิดา)มีคุณธรรมเสมอกับมารดาบิดา
๓. อวชาตบุตร (ธิดา) หมายถึง บุตร(ธิดา)มีคุณธรรมต่ำกว่ามารดาบิดา บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า(คือทิศตะวันออก)  ดังนี้
๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว  เลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำการงานของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
ส่วนมารดาบิดามีหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อบุตรธิดา ดังนี้[๕]
๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
๒. ผู้หญิงในฐานะมารดา
       ความเป็นมารดาเป็นลักษณะสำคัญของผู้หญิงทุกคนศักยภาพของความเป็นมารดามีอยู่ในผู้หญิงทุกคนหญิงวัยรุ่นจะเป็นมารดาในอนาคตหญิงสาวเป็นมารดาและหญิงผู้สูงวัยได้ให้กำเนินบุตรธิดามาแล้วแม้ว่าผู้หญิงไม่สามารถได้ให้กำเนิดบุตรธิดาได้ผู้หญิงนั้นก็ยังถือว่าเป็นผู้มีภาวะแฝงของความเป็นมารดาอยู่
ในสิงคาลกสูตรมารดาบิดามีหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อบุตรธิดาดังนี้
๑.ห้ามปรามจากความชั่ว
๒.ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา
       การไม่ปฏิบัติต่อพ่อแม่ตามหน้าที่ของบุตรธิดานั้นเป็นคนถ่อยเป็นทางของคนเสื่อม ตายไปย่อมเข้าถึงนรกส่วนการปฏิบัติต่อพ่อแม่ตามหน้าที่ของบุตรธิดานั้นย่อมได้รับการสรรเสริญ ตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
    “คนใดผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว พึงรู้ว่า เป็นคนถ่อย
คนใดผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว ข้อนั้เป็นทางของคนเสื่อม
บุตรผู้อันมารดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความยากลำบากอย่างนี้ไม่บำรุงมารดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในมารดาย่อมเข้าถึงนรกบุตรผู้อันบิดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความยากลำบากอย่างนี้ไม่บำรุงบิดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในบิดาย่อมเข้าถึงนรกเพราะไม่บำรุงมารดาแม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้นเพราะไม่บำรุงบิดาแม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น
เพราะเหตุที่บุตรผู้เป็นบัณฑิต ได้บำรุงบำเรอในมารดาบิดาบัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขา ครั้นเขาละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์ในมงคลสูตร[๑๒]พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า
การบำรุงมารดาบิดาเป็นมงคลสูงสุด” (มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)   ในสังยุตตนิกาย  สคาถวรรค เสนอว่า มารดาเป็นมิตรสนิทใจในเรือนของตน  (มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร)บุตรธิดาจึงสามารถปรึกษาปัญหาต่าง ๆ จากมารดาของตนได้โดยไม่ต้องหวาดระแวงแต่อย่างใด  มารดาคือผู้หญิงผู้ให้บุตรเกิด  ส่วนบิดาคือผู้ชายผู้ให้บุตรเกิด    พระพุทธศาสนาเสนอว่า   เมื่อกล่าวถึงมารดาและบิดานั้น มารดาเท่านั้นเป็นผู้ทำกิจที่ทำได้ยาก 
ในโสณนันทชาดก  แสดงไว้ดังนี้ มารดาเมื่อหวังผลคือบุตร จึงนอบน้อมเทวดา  ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย เมื่อมารดาอาบแล้ว  ในเพราะฤดูสัตว์เกิดในครรภ์ย่อมก้าวลง  ด้วยเหตุนี้ มารดา ท่านจึงเรียกว่า โทหฬินี (หญิงแพ้ท้อง)   ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า สุหทา (หญิงมีใจดี) มารดานั้น ถนอม(ครรภ์)  ปีหนึ่งหรือหย่อนปีหนึ่งแล้วจึงคลอดด้วยเหตุนั้น ๆ  ท่านจึงเรียกว่า ชนยนฺตี  ชเนตฺตี (ผู้ยังบุตรให้เกิด) มารดาปลอบโยนบุตรผู้ร้องไห้ด้วยน้ำนมด้วยเพลงขับ  และด้วยเครื่องกกคืออวัยวะ  ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า  โตเสนฺตี ( ผู้ยังบุตรให้ยินดีหรือปลอบโยน )  แต่นั้นเมื่อลมและแดดแรงกล้ามารดาทำความหวั่นใจคอยแลดูบุตรผู้ยังเป็นทารกไม่เดียงสา,  ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า  โปเสนฺตี (ผู้เลี้ยง)ทรัพย์ของมารดาอันใดมีอยู่  และทรัพย์ของบิดาอันใดมีอยู่,มารดาย่อมคุ้มครองทรัพย์แม้ทั้ง ๒ นั้นไว้เพื่อบุตรนั่นด้วยหวังว่า  เออก็ทรัพย์ทั้งหมดนี้  ควรเป็นของบุตรเรามารดาเมื่อให้บุตรสำเหนียกว่า  อย่างนี้ลูก  อย่างโน้นลูกเป็นต้น  ย่อมเดือดร้อนด้วยประการฉะนี้.
          เมื่อบุตรถึงความเป็นหนุ่มแล้ว  มารดารู้ว่าบุตรมัวเมาในภรรยาของผู้อื่น  ในเวลาค่ำคืนไม่กลับมาในเวลาเย็น  ย่อมเดือดร้อน  ด้วยประการฉะนี้ 
           พระพุทธศาสนาถือว่า  มารดาและบิดาเป็นพระพรหม  บุรพเทพบุรพาจารย์  และอาหุไนยบุคคลของบุตรธิดา มารดาและบิดา เป็นพระพรหมของบุตรธิดาเพราะมีความประพฤติเช่นเดียวกับพระพรหม คือ มีพรหมวิหาร ๔ ในบุตรธิดา
๑. พรหมวิหาร: เมตตา คือ  เมื่อบุตรธิดาอยู่ในท้องมารดาบิดานั้นเกิดเมตตาต่อบุตรธิดาว่า เมื่อไรหนอเราจึงจักเห็นลูกน้อยไม่มีโรค?”
๒. พรหมวิหาร: กรุณา คือเมื่อเวลาที่บุตรธิดายังเล็ก  นอนหงายอยู่  ถูกสัตว์มีเล็นเป็นต้นกัด  หรือนอนไม่สบายร้องไห้อยู่มารดาบิดาจึงเกิดความกรุณาขึ้นเพราะได้ยินเสียงบุตรธิดานั้น
๓. พรหมวิหาร:มุทิตา คือ เมื่อเวลาที่บุตรธิดาวิ่งเล่น  อยู่ในวัยน่าดูน่าชม มารดาบิดามีจิตอ่อนโยน  บันเทิงเบิกบานเพราะมองดูบุตรธิดาน้อย  มารดาบิดานั้นจึงได้ความบันเทิง
๔. พรหมวิหาร: อุเบกขา คือเมื่อเวลาที่บุตรธิดานั้นทำการเลี้ยงภรรยาสามี แยกครองเรือน  มารดาบิดามองเห็นว่า  บัดนี้ลูกน้อยของเรา  อาจเพื่อจะเลี้ยงตนเองได้ มารดาบิดาจึงได้ความวางเฉยมารดาและบิดา  เป็นบุรพเทพของบุตรธิดาเพราะเป็นผู้มีอุปการะก่อนกว่าเทพเหล่าอื่น  ส่วนสมมติเทพอุปัตติเทพ  และวิสุทธิเทพเหล่าอื่น  ชื่อว่า ปัจฉาเทพ มารดาและบิดา เป็นบุรพาจารย์ของบุตรธิดา  เพราะเป็นอาจารย์ ก่อนอาจารย์ทั้งหมด  คือมารดาและบิดา สั่งสอนบุตรแต่แรกว่า  จงนั่งอย่างนี้, ยืนอย่างนี้และว่า คนนี้ ควรเรียกว่าพ่อ  ต่อมา  อาจารย์อื่น ๆ จึงสั่งสอนศาสตร์ต่าง ๆ มารดาและบิดาเป็นอาหุไนยบุคคลชองบุตรธิดา เพราะเป็นผู้สมควรเครื่องอุปโภคและบริโภคที่บุตรนำมาบูชาต้อนรับเมื่อมารดาและบิดามีบุญคุณเช่นนี้แล้ว บุตรธิดาควรตอบแทนบุญคุณของท่านทั้ง ๒
             ในมาตาปิตุคุณสูตร[๑๕]  พระพุทธเจ้าทรงแสดงการตอบแทนบุญคุณแก่มารดาบิดาไว้ดังนี้
ภิกษุทั้งหลายเราไม่ควรกล่าวการทำตอบแทนได้ง่ายแก่มารดาและบิดาบุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่งพึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง  เขามีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ (มีชีวิต)  ๑๐๐ ปีและเขาพึงทำการบำรุงมารดาบิดานั้นด้วยการอบกลิ่น  การนวดการให้อาบน้ำ  และการดัด และท่านทั้ง ๒ นั้นพึงถ่ายปัสสาวะและอุจจาระบนบ่าทั้ง ๒  นั้นนั่นแล
ภิกษุทั้งหลาย  กิจอย่างนั้นยังไม่เป็นอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย.
ภิกษุทั้งหลาย  อนึ่ง  บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติอันเป็นอิสราธิปัตย์แห่งแผ่นดินใหญ่นี้  อันมีรัตนะ  ๗ประการมากมาย 
ภิกษุทั้งหลาย กิจอย่างนั้นยังไม่เป็นอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร ?
ภิกษุทั้งหลายเพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก  บำรุงเลี้ยงแสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย  ก็บุตรใดแลยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในสัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีลให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในสีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ตระหนี่ ให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีปัญญาทรามให้สมาทานดำรงตั้งอยู่ในปัญญาสัมปทา
          ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล  กิจนั้น จึงชื่อว่าเป็นอันบุตรทำแล้ว  ทำตอบแทนแล้วและทำยิ่งแล้วแก่มารดาบิดา
๓. ผู้หญิงในฐานะภรรยา
ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา สาเหตุการเกิดขึ้นของความรักทั้งของผู้ชายและผู้หญิงมี ๒ ประการคือ
๑. ความรักเกิดจากการอยู่ร่วมกันในชาติก่อน  (ปุพฺเพวสนฺนิวาเสน)  ความรักประการนี้เกิดจากความพอใจเมื่อได้พบกันครั้งแรก
๒. ความรักเกิดจากความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน (ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา) เมื่อต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลด้านประโยชน์แก่กันและกันช่วยเหลือกันตามความสามารถที่จะพึงกระทำให้ได้จนเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกันขึ้นเป็นความรักในลำดับต่อมาในสิงคาลกสูตร[๑๗]  กล่าวถึงหน้าที่ของภรรยาไว้  ๕ ประการ คือ
๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้ง ๒ ฝ่ายด้วยดี
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ (ไม่ต้องคอยกังวลเพราะภรรยาเป็นผู้ไว้ใจได้)
๔. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
หน้าที่ของสามี  ๕ ประการ คือ
๑. ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
๕. หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
โดยเฉพาะหน้าที่ข้อที่ ๓  ทั้งของสามีและภรรยานั้น
         พระพุทธเจ้าทรงตระหนักดีว่าครอบครัวจะปราศจากปัญหาทางสภาพจิตใจก็ต่อเมื่อทั้งสามีและภรรยาซื่อสัตย์แก่กันและกันไว้ใจกันโดยไม่มีการประพฤตินอกใจกันแม้ว่าบางทีสามีและภรรยาอยู่ห่างไกลกันก็ตาม
ความทุกข์เฉพาะของผู้หญิงซึ่งไม่เกิดแก่ผู้ชาย  แต่กระนั้นผู้ชายซึ่งเป็นสามีควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้และปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่เห็นอกเห็นใจกัน คือ
๑.ผู้หญิงต้องพลัดพรากจากญาติพี่น้องมาอยู่กับตระกูลสามีที่ยังเป็นเด็กสาวสามีควรให้ความอบอุ่นใจ
๒.  ผู้หญิงมีประจำเดือน  ซึ่งบางคราวก่อปัญหาให้เกิดความแปรปรวนทั้งทางร่างกายและจิตใจฝ่ายสามีควรเข้าใจ
๓.  ผู้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งยามนั้นต้องการความเอาใจใส่บำรุงร่างกายและจิตใจเป็นพิเศษ
๔.  ผู้หญิงคลอดบุตร  ซึ่งเป็นคราวเจ็บปวดทุกข์แสนสาหัสและเสี่ยงชีวิตมาก  สามีควรใส่ใจเหมือนเป็นทุกข์ของตน
๕.  ผู้หญิงต้องคอยปรนเปรอเอาใจใส่ฝ่ายชายฝ่ายผู้ชายนั้นไม่ควรเอาแต่ใจตัวพึงซาบซึ้งในความเอื้อเฟื้อและมีน้ำใจตอบแทน
       พุทธโอวาทแก่หญิงสาวที่ไปสู่ตระกูลสามีเนื่องด้วยชมพูทวีปสมัยพุทธกาลอยู่ในยุคเกษตรกรรมสามีเป็นผู้ประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวโอวาทหรือคำแนะนำที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ผู้หญิงที่มีบทบาทเป็นภรรยาจึงใช้ได้อย่างดีในสังคมไทยแบบเดิมซึ่งมีลักษณะการแบ่งงานในครอบครัวอย่างในปัจจุบันนี้แม้สังคมจะผันแปรไปตามกาลสมัย  ผู้หญิงฉลาดสามารถยึดถือสาระจากคำแนะนำเหล่านั้นของพระพุทธองค์แล้วนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตครอบครัวได้เป็นอย่างดี  พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทแก่หญิงสาวผู้จะไปสู่ตระกูลสามีไว้ ๕ ประการ[๑๙]ดังนี้
๑.  พึงตื่นก่อน  นอนทีหลัง  คอยฟังว่าจะมีอะไรให้ช่วยทำประพฤติแต่สิ่งที่ถูกใจ  พูดคำไพเราะ  น่ารัก
๒. คนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี  เช่น มารดาบิดา  พระสงฆ์เป็นต้น  ก็แสดงความเคารพ และต้อนรับท่านเหล่านั้นเป็นอย่างดี
๓. เป็นผู้ขยัน  ไม่เกียจคร้าน  เฉลียวฉลาด  รู้จักคิดจัดทำงาน  เช่น  งานทำผ้าขนสัตว์ หรือ ผ้าฝ้าย เป็นต้น
๔. เอาใจใส่สอดส่องดูแลคนในปกครองภายในบ้าน  เช่นคนรับใช้และคนงานต่าง ๆ เป็นต้น  รู้ว่า  เขาได้ทำงานแล้วหรือยังไม่ได้ทำ  รู้ว่ามีใครเจ็บป่วยไข้  เป็นอย่างไรเอาใจใส่รักษาพยาบาล  จัดแบ่งอาหารของบริโภคเผื่อแผ่ให้แก่คนเหล่านั้นตามสมควร
๕. รู้จักประหยัด  เก็บรักษาทรัพย์สินเงินทองที่สามีหามาได้  ไม่เล่นการพนันไม่ขโมยยักยอก  ไม่เป็นนักดื่ม  ไม่ทำลายผลาญทรัพย์สมบัติ
ในบางพระสูตร  เช่น อนุรุทธสูตร[๒๐]
พระองค์ทรงแสดงเพิ่มเติมจากเดิมไว้บ้างว่า
ภรรยาเป็นอุบาสิกา  ยอมรับนับถือพระรัตนตรัย  สมาทานศีล ๕
และมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ใจบุญสุนทร์ทาน
โอวาทของธนัญชัยเศรษฐีแก่นางวิสาขา[๒๑]
ธนัญชัยเศรษฐีได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อแก่นางวิสาขา ก่อนที่จะส่งตัวนางไปสู่ตระกูลของสามี คือแต่งงานกับบุตรของมิคารเศรษฐี  ดังนี้
๑. ไม่ควรนำไฟภายในออกไปข้างนอกหรือเรียกสั้น ๆ ว่า ไฟในอย่านำออก (อนฺโตอคฺคิ  พหิ  นนีหริตพฺโพ)  หมายความว่า เมื่อสตรีอยู่ในตระกูลพ่อผัวแม่ผัวเห็นความผิดของพ่อผัวแม่ผัวแล้วไม่ควรนำไปพูดกับเพื่อนบ้านข้างนอก เพราะขึ้นชื่อว่าไฟเสมอด้วยไฟคือความผิดไม่มี
๒. ไม่ควรนำไฟภายนอกเข้าข้างในหรือเรียกสั้น ๆ ว่าไฟนอกอย่านำเข้า (พหิอคฺคิ  อนฺโต    ปเวเสตพฺโพ)   หมายความว่า ถ้าสตรีหรือบุรุษเพื่อนบ้านกล่าวโทษพ่อผัวแม่ผัวหรือสามี อย่านำเอาเรื่องนั้นมาเล่าภายในบ้าน เพราะไฟธรรมชาติสู้ไฟที่เกิดจากการตำหนิติเตียนกันหาได้ไม่
๓. ควรให้แก่ผู้ที่ให้เท่านั้น (ททนฺตสฺเสว  ทาตพฺพํ) ควรให้แก่ผู้ที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้แก่ผู้ที่ยืมเครื่องมือเครื่องใช้ไปแล้วส่งคืนถูกต้องภายหลังเขามายืมอีก ควรให้
๔. ไม่ควรให้แก่ผู้ที่ไม่ให้ (อททนฺตสฺสน  ทาตพฺพํ) ไม่ควรให้แก่ผู้ที่ไม่ให้  หมายความว่าไม่ควรให้แก่ผู้ที่ยืมเครื่องมือไปแล้ว ไม่ส่งคืน
ภายหลังเขามายืมอีกไม่ควรให้
๕. ควรให้แก่ผู้ที่ให้และไม่ให้ (ททนฺตสฺสาปิ   อททนฺตสฺสาปิ  ทาตพฺพํ)  หมายความว่าควรให้แก่ญาติมิตรที่ยากจนขัดสนอนาถามาถึงบ้านเรา
เขาจะให้คืนหรือไม่ให้คืนก็ตามสมควรแท้ที่จะให้คนเหล่านั้น
๖. ควรนั่งให้เป็นสุข (สุขํ นิสีทิตพฺพํ) หมายความว่า  อย่าไปนั่ง ณ
ที่พ่อผัวแม่ผัวหรือสามีมา  ต้องลุกขึ้นให้คนเหล่านั้นนั่งเพราะนั่งแล้วต้องลุกขึ้น หาความสบายได้ยาก
๗. ควรกินให้เป็นสุข (สุขํ ภุญฺชิตพฺพํ)  หมายความว่า ไม่ควรกินก่อนพ่อผัวแม่ผัว หรือสามีเลี้ยงดูท่านเหล่านั้น ตรวจดูว่าอะไรที่ท่านเหล่านั้นได้รับหรือยังไม่ได้รับตนควรกินทีหลัง จะไม่ถูกคนเหล่านั้นตำหนิจึงว่ากินเป็นสุข
๘. ควรนอนให้เป็นสุข (สุขํ  นิปชฺชิตพฺพํ)  หมายความว่า ไม่ควรนอนก่อนพ่อผัวแม่ผัว และสามีควรทำสิ่งที่ควรแก่ท่านเหล่านั้นก่อนแล้วตนเองเข้านอนภายหลังจึงสมควร
๙.  ควรบำเรอไฟ (อคฺคิ ปริจริตพฺโพ)  หมายความว่า ควรบำรุงเลี้ยงดูรักษาพ่อผัวแม่ผัว และสามีซึ่งเปรียบเสมือนกองไฟหรือพระยานาค เพราะท่านเหล่านั้นให้คุณอนันต์และให้โทษมหันต์
๑๐. ควรนอบน้อมเทวดาภายใน (อนฺโตเทวตา นมสฺสิตพฺพา) หมายความว่า ควรเคารพบูชาพ่อผัวแม่ผัวและสามี ซึ่งเปรียบเสมือนเทวดาภายในบ้า
บทที่ ๒
สตรีกับสังคม
แบบของการแต่งงานการแต่งงานที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนามี  ๓ แบบ[๒๒] คือ
๑. การแต่งงานโดยผู้ปกครองของทั้ง  ๒ ฝ่ายจัดการให้
โดยทั่วไปแล้ว การแต่งงานแบบที่ ๑ นี้นับว่าแพร่หลายมาก ข้อคำนึงที่สำคัญก็คือ ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องมีฐานะทางสังคมสกุลและการเงินไม่ต่างกันมากนัก  เช่น ในเรื่องธนัญชัยเศรษฐีให้ลูกสาวของตนชื่อนางวิสาขาแต่งงานกับบุตรชายของมิคารเศรษฐี ก็พิจารณาจากหลักการข้างต้น โดยกล่าวว่า แม้จะเท่าเทียมกันไม่ได้ทางทรัพย์สมบัติก็จริงแต่ก็เท่าเทียมกันทางชาติตระกูล ธรรมดาว่าคนที่เพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง หาได้ยาก
๒. การแต่งงานแบบสยุมพร   การแต่งงานแบบที่ ๒ นี้
หญิงจะเลือกสามีของตนโดยเลือกจากผู้เข้าแข่งขันหลายคนต่อหน้าธารกำนัล เช่นในกุณาลชาดก พระนางกัณหาเลือกโอรสทั้ง ๕ พระองค์ได้แก่ พระอัชชุนะ พระนกุล พระภีมเสน พระยุธิษฐิลและพระสหเทพ ของพระเจ้าปัณฑุราชมาเป็นพระสวามี สัญญารักที่พระนางกัณหาแสดงต่อชายทั้ง ๕ ผู้ชนะดวงใจของเธอก็คือ การโยนพวงมาลัยไปสวมคอให้เสร็จแล้วเธอก็ได้ชายเหล่านั้นมาเป็นพระสวามีสมความปรารถนา
๓. การแต่งงานแบบคนธรรพ์  ในการแต่งงานแบบนี้
       หนุ่มสาวจะเลือกคู่กันโดยผู้ปกครองไม่ทราบและไม่ได้รับอนุมัติทั้งอยู่กินร่วมกันในฐานะสามีภรรยาโดยปราศจากพิธีรีตองใด ๆ เช่น ในอรรถกถาธรรมบทและอรรถกถาเถรีคาถา นางปฏาจารา ธิดาของเศรษฐีในเมืองสาวัตถี บิดาของเธอหวงแหนเธอยิ่งนักถึงกับจัดให้เธออยู่ในห้องมิดชิด บนชั้น ๗ ของคฤหาสน์เธอได้หลงรักคนรับใช้ฝ่ายบิดาไม่ทราบจึงจัดหาคู่หมั้นที่มีสกุลและฐานะดีให้ครั้นถึงวันแต่งงาน ปรากฏว่า นางปฏาจารากลับหนีไปกับคนรับใช้ทำให้บิดาเสียใจเป็นอย่างยิ่งสามีหนุ่มและภรรยาสาวคู่นี้ได้หนีไปอยู่ ณ.ชนบทไกลแห่งหนึ่ง
ชนิดของภรรยาพระพุทธเจ้าตรัสสอนนางสุชาดา  สะใภ้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า  ภรรยามีอยู่ ๗ ชนิด เป็นฝ่ายร้าย  ๓ ชนิดและเป็นฝ่ายดี ๔ ชนิด[๒๓]คือ
๑.  วธกาภริยา  ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต ได้แก่ ภรรยาผู้มีจิตประทุษร้ายปรารถนาความเสื่อมเสียหายแก่สามี  ดูหมิ่นและคิดทำลายสามีชอบคบชายอื่น
๒. โจรีภริยา  ภรรยาเยี่ยงโจร  ได้แก่ ภรรยาที่ยักยอกล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้ไม่ว่าโดยศิลปกรรม (การช่าง ) พาณิชยกรรม (การค้าขาย) และกสิกรรม (การทำนาการทำสวน)
๓. อัยยาภริยา  ภรรยาเยี่ยงนาย  ได้แก่ ภรรยาที่ไม่ใส่ใจการงาน  เกียจคร้าน  กินมาก  ปากร้าย ใจเหี้ยม  พูดจาหยาบคาย  ข่มสาม
ภรรยา  ๓ ชนิดแรกเป็นฝ่ายร้าย
๔. มาตาภริยา   ภรรยาเยี่ยงมารดา  ได้แก่ ภรรยาที่หวังดีตลอดเวลา  คอยห่วงใยรักษาสามีเหมือนมารดาดูแลบุตรประหยัดรักษาทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้
๕. ภคินีภริยา  ภรรยาเยี่ยงน้องสาวได้แก่ ภรรยาที่เคารพสามีดังน้องกับพี่ละอายต่อบาปคล้อยตามสามี
๖. สขีภรรยา   ภรรยาเยี่ยงสหาย  ได้แก่ ภรรยาที่พบเห็นสามีเมื่อใด ก็ปลาบปลื้มดีใจเหมือนได้เห็นหน้าเพื่อนหลังจากที่ไม่ได้เห็นกันเป็นเวลานานได้รับการศึกษาอบรม  (เป็นหญิงมีตระกูล) มีความประพฤติดี  (คือมีศีล) รู้จักปฏิบัติต่อสามี
๗. ทาสีภริยา  ภรรยาเยี่ยงทาส  ได้แก่ ภรรยาที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสามี  คล้อยตามสามี ถูกขู่ตะคอกก็อดทนได้  ไม่โกรธตอบ ภรรยา    ชนิดนี้เป็นฝ่ายดี สตรี ๒๐ ชนิด (รวมถึงสตรีที่เป็นภรรยา) กับศีลข้อที่ ๓ ในพระวินัยปิฎก[๒๔] จำแนกสตรีไว้ ๒๐ ชนิด  คือสตรีโสด ๑๐ ชนิด และสตรีมีสามี ๑๐ ชนิด คือ สตรีโสด ๑๐ ชนิด  คือ
๑. สตรีที่มารดาดูแลรักษา (มาตุรกฺขิตา)
๒. สตรีที่บิดาดูแลรักษา  (ปิตุรกฺขิตา)
๓. สตรีที่ทั้งมารดาและบิดาดูแลรักษา (มาตาปิตุรกฺขิตา)
๔.  สตรีที่พี่ชายน้องชายดูแลรักษา (ภาตุรกฺขิตา)
๕.  สตรีที่พี่สาวน้องสาวดูแลรักษา (ภคินีรกฺขิตา)
๖.   สตรีที่ญาติดูแลรักษา (ญาติรกฺขิตา)
๗.  สตรีที่ผู้ร่วมโคตรร่วมสกุลดูแลรักษา (โคตฺตรกฺขิตา)
๘.  สตรีที่ผู้ปฏิบัติธรรมร่วมดูแลรักษา (ธมฺมรกฺขิตา)
๙.   สตรีมีคู่หมั้น (สารกฺขา)
๑๐. สตรีที่มีผู้กำหนดอาญาสินไหมไว้ (สปริทณฺฑา)
สตรีมีสามี ๑๐ ชนิด คือ
๑๑. สตรีที่ซื้อมาเป็นภรรยาด้วยทรัพย์ (ธนกฺกีตา)
๑๒. สตรีที่อยู่ร่วมเป็นภรรยาด้วยสมัครใจ (ฉนฺทวาสินี)
๑๓. สตรีที่เป็นภรรยาด้วยได้โภคะทรัพย์ (โภควาสินี)
๑๔.สตรีที่เป็นภรรยาด้วยได้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (ปฏวาสินี)
๑๕. สตรีที่เป็นภรรยาด้วยแต่งงานรดน้ำ (โอทปตฺตกินี)
๑๖. สตรีที่เป็นภรรยาด้วยฝ่ายชายช่วยยกของหนักลงจากแบกหาม
      (โอภตจุมฺภฏา)
๑๗. สตรีที่เป็นทาสีด้วยเป็นภรรยาด้วย (ทาสี จ ภริยา จ)
๑๘. สตรีที่รับทำงานด้วยและเป็นภรรยาด้วย(กมฺมการี จ ภริยาจ)
๑๙. สตรีที่เป็นภรรยาโดยถูกจับมาเป็นเชลย (ธชาหฏา)
๒๐. สตรีที่เป็นภรรยาชั่วคราว (มุหุตฺติกา)

        สตรี ๑๒ ชนิด ตั้งแต่หมายเลข ๙ ถึง ๒๐ เป็นอคมนียฐาน (ฐานะมิควรถึง) ของบุรุษอื่นที่มิใช่สามี คือมิควรที่ชายอื่นผู้มิใช่สามีคบหาสังวาสเป็นอันขาดเพราะสตรีทั้ง ๑๒ ชนิดนั้นมีชายครอบครองหรือหมั้นไว้เป็นภรรยาแล้ว ถ้าสตรี ๑๒ ชนิดนั้นคบหาชายอื่น ตนเองก็ล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๓ เพราะตนมีสามีแล้ว เท่ากับเธอเหล่านั้นขโมยเอาผัสสะ ซึ่งเป็นสมบัติของสามีตนไปบำเรอแก่ชายอื่น จึงเป็นการประพฤติผิดในกาม คือล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๓
ส่วนสตรีอีก ๘ ชนิด คือตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึงหมายเลข ๘ ถึงจะคบหาสังวาสกับชายอื่นตนเองหาล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๓ ไม่ (ถ้าชายอื่นยังไม่มีภรรยา) เพราะสตรีเหล่านั้นไม่มีสามีส่วนมารดาบิดา ญาติ เป็นต้น ที่เป็นผู้ดูแลคุ้มครองก็มิใช่เจ้าของผัสสะของสตรีเหล่านั้นหากแต่พวกเธอเป็นเจ้าของผัสสะของเธอเองจึงไม่ล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๓ ทั้งมารดาบิดา ญาติเป็นต้นก็มิได้ดูแลคุ้มครองพวกเธอด้วยมุ่งหมายเสวยผัสสะเสียเอง
หากแต่คอยป้องกันความเสื่อมเสีย จึงห้ามปรามมิให้คบหาชายอื่น
ส่วนบุรุษเมื่อคบหาสังวาสกับสตรีทั้ง ๒๐ ชนิดนั้น ผู้มิได้เป็นภรรยาของตน ถือว่าล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๓ ไม่ว่าสตรีนั้นๆ จะยินยอมพร้อมใจกับตนหรือไม่ก็ตามเว้นเสียแต่ถูกบังคับข่มขืน
จึงสรุปได้ว่า
เมื่อแต่ละฝ่ายมีคู่ครองแล้วหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคู่ครองแล้วไปคบหาสังวาสกับอีกฝ่ายหนึ่งถือว่าผิดทั้งนั้น

พระพุทธศาสนากับสตรี
           ต้องยอมรับว่าสถานภาพของสตรีเพศในสมัยพุทธกาลหรือแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ ผู้หญิงถูกกดขี่ทางเพศ อยู่ในฐานะเหมือนกับเป็นทาสของบุรุษ สังคมไม่ยอมรับความสามารถของสตรี หาเสรีภาพความเสมอภาพไม่เจอ พระพุทธเจ้านับเป็นศาสดาองค์แรกที่ทรงประทานเสรีภาพความเสมอภาพให้แก่สตรี ตลอดจนประทานให้อุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ เพราะทรงเห็นว่าสตรีนั้นมีความสามารถไม่น้อยไปกว่าบุรุษเลย พระพุทธเจ้าทรงยอมรับให้สตรีได้บวชในพระพุทธศาสนาได้ ซึ่งในสมัยนั้นผู้หญิงเป็นที่ดูถูกดูแคลนของสังคมยุคนั้น ในกรณีที่ว่าผู้หญิงไม่ควรได้รับการอุปสมบทและไม่อาจจะบรรลุธรรมได้
          พระพุทธศาสนายกย่องสถานภาพของสตรี
           (ภริยา ปรมา สขา)
ภรรยาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของสามี สามีไม่ควรปฏิบัติต่อเธอเยี่ยงทาสในครัวเรือน จะเห็นได้ว่าในหลักของคิหิปฏิบัติพระพุทธเจ้าทรงยกย่องฐานะของสตรีไว้ ๕ ประเภท ซึ่งสามีจะต้องปฏิบัติต่อเธอก็คือ
๑. ด้วยการยกย่องนับถือว่าภรรยาอย่างแท้จริง
๒. ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามหรือทำให้ภรรยาเสียใจสะเทือนใจ
๓. ทะนุถนอมน้ำใจภรรยารักใคร่ไม่จืดจาง
๔. มอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยารับผิดชอบการเรือนอย่างเต็มที่
๕. มอบของขวัญเครื่องประดับอาภรณ์บ้างในโอกาสอันสำคัญ
         พระพุทธศาสนายกย่องสตรีทุกคนไว้ในฐานะดุจเพศแม่ บุรุษจะต้องให้ความเคารพรักสตรีเช่นกับแม่ของตน ในสมัยพุทธกาล บุรุษเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาบำเพ็ญตนจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปฉันใด สตรีก็เหมือนกัน เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาสามารถบำเพ็ญตนจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปฉันนั้น
ภิกษุณีบริษัท
        ปฐมเหตุของการเกิดภิกษุณีนั้น เกิดจากพระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยสากิยานีประมาณ ๕๐๐ นาง ตัดสินใจโกนผมนุ่งห่มผ้ากาสายะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองเวสาลี ด้วยความอุตสาหะสูงมาก คือไม่สวมรองเท้าและไปด้วยยาน พระเถระอานนท์เป็นผู้อาสาขอประทานอนุญาตให้สตรีบวช พระอานนท์ได้กราบทูลด้วยเหตุผลด้วยประการต่างๆ พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงประทานให้สตรีได้บวชได้โดยง่าย เป็นเพราะทรงมีพระพุทธประสงค์ที่จะให้สตรีทั้งหลายทราบว่า เพศบรรพชาของพวกตน ได้มาโดยยากยิ่ง จะได้สำนึกถึงคุณค่าที่ตนจะต้องรักษาไว้ให้ยืนยาวสืบต่อไปนั้นเอง เมื่อทรงประทานอนุญาต ได้ทรงกำหนดให้ภิกษุณีต้องประพฤติครุธรรม ๘ ประการไม่ให้ขาดตกบกพร่อง กล่าวคือ
๑. ภิกษุณีแม้อุปสมบทตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ต้องแสดงคารวะต่อภิกษุแม้อุปสมบทในวันนั้น
๒. ภิกษุณีจะต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุอยู่
๓. ภิกษุณีจะต้องถามอุโบสถและฟังโอวาทของภิกษุสงฆ์ทุกครึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
๕. ภิกษุณีต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วต้องประพฤติมานัตปักข์หนึ่งในสงฆ์สองฝ่าย
๖. ภิกษุณีต้องอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่าย
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าภิกษุไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม
๘. ภิกษุณีไม่พึงสอนภิกษุ ให้เปิดโอกาสให้ภิกษุสอนตน

                            บทที่ ๓
                                 พระพุทธวจนะเรื่องสตรี
๒๐๒. สตรีที่บุรุษไม่ชอบใจเลย
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สตรี (มาตุคาม) ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ องค์ ๕ คือ
              ๑. ไม่มีรูป (รูปไม่งาม)                 ๒. ไม่มีทรัพย์
              ๓. ไม่มีศีล                                   ๔. เกียจคร้าน
              ๕. ไม่มีบุตรกับบุรุษนั้น
              สตรีผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ."
๒๐๓. สตรีที่บุรุษชอบใจแท้
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สตรีที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ องค์ ๕ คือ
              ๑. มีรูป (รูปงาม)                ๒. มีทรัพย์
              ๓. มีศีล                           ๔. ขยัน ไม่เกียจคร้าน
              ๕. มีบุตรกับบุรุษนั้น
              สตรีผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ."
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๙๖
๒๐๔. บุรุษที่สตรีไม่ชอบใจเลย
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี องค์ ๕ คือ
              ๑. ไม่มีรูป (รูปไม่งาม)               ๒. ไม่มีทรัพย์
              ๓. ไม่มีศีล                               ๔. เกียจคร้าน
              ๕. ไม่มีบุตรกับสตรีนั้น
              บุรุษประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี."
วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๔
๒๐๕. บุรุษที่สตรีชอบใจแท้
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี องค์ ๕ คือ
              ๑. มีรูป (รูปงาม)
              ๒. มีทรัพย์
              ๓. มีศีล
              ๔. ขยัน ไม่เกียจคร้าน
              ๕. มีบุตรกับสตรีนั้น
              บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี."
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๙๖

   เชิงอรรถ

 [๑]ศึกษาจากลักษณ์วัต ปาละรัตน์,สตรีในมุมมองของพุทธปรัชญา, (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๔๕),หน้า ๕
[๒]ขุ.ชา. (ปัณฑรกชาดก) ๒๗/๒๘๘๗
[๓]ขุ. อิติ.ปุตตสูตร. ๒๕ / ๗๔
[๔]ที.ปา. สิงคาลกสูตร. ๑๑/๒๖๗
[๕]ที.ปา. สิงคาลกสูตร. ๑๑/๒๖๗
[๖]Nandasena Ratnapala, Buddhist Sociology,(Delhi : D.K.
Fine Art Press, 1993), pp.63-64
[๗]ที.ปา. สิงคาลกสูตร. ๑๑/๒๖๗
[๘] ขุ.สุ. วสลสูตร. ๒๕/๑๒๔
[๙]ขุ.สุ. ปราภวสูตร. ๒๕/๙๘
[๑๐]ขุ.ชา.โสณนันทชาดก (๕๓๒) ๒๘/๔๘๘-๔๙๑
[๑๑]องฺ.จตุกฺก. พรหมสูตร. ๒๑/๖๓
[๑๒]ขุ.สุ. มงคลสูตร. ๒๕/๑
[๑๓] สํ.ส. มิตตสูตร. ๑๕/๕๓
[๑๔]ขุ.ชา.โสณนันทชาดก (๕๓๒) ๒๘/๔๘๑-๔๘๗
[๑๕]องฺ.ทุก. ๒๐/๓๔
[๑๖] ธ.อ. ๒/๒๑
[๑๗]ที.ปา. สิงคาลกสูตร. ๑๑/๒๖๙
[๑๘]ที.ปา. สิงคาลกสูตร. ๑๑/๒๖๙
[๑๙]องฺ.ปญฺจก. อุคคหสูตร. ๒๒/๓๓
[๒๐]องฺ. อฏฺฐก. อนุรุทธสูตร. ๒๓ /๔๖
[๒๑]ธ.อ. ๓/๕๗
[๒๒]ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เรืองอุไร กุศลาสัย, สตรีในวรรณคดีพุทธศาสนา, (กรุงเทพ ฯ : รุ่งแสงการพิมพ์, ๒๕๒๕), หน้า ๖
[๒๓]องฺ. สตฺตก . ภริยาสูตร.  ๒๓ / ๖๓
[๒๔]วินย. ๑/๓๐๓



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น